สมาคมประกันวินาศภัยไทย ชง 6 ข้อเสนอรัฐ หนุนพัฒนาประกันสุขภาพ ขานรับนโยบายมุ่งตอบโจทย์สังคมสูงอายุ แนะ “เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเบี้ย” เป็น 4 หมื่นบาท จูงใจซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงเสนอ “ร่วมจ่าย” เฉพาะโรค ช่วยให้ค่าเบี้ยถูกลง พร้อมผลักดันใช้ประกันสุขภาพ ร่วมสวัสดิการรัฐได้

       นายปิยะพัฒน์ วนอุกฤษฏ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้สมาคมศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ

       เนื่องจากเล็งเห็นว่าการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยจากประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในช่วงกว่า 10 ปีข้างหน้า (ถึงปี 2573) จะเพิ่มเป็น 3.38 ล้านล้านบาท จาก 1.16 ล้านล้านบาท (ณ ปี 2560)

        สอดรับคาดการณ์ว่าปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ จากปัจจุบันนี้อยู่ในสัดส่วน 20%

       ทั้งนี้ สมาคมได้ส่งข้อเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมี 6 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

       1.บริษัทประกันสามารถปรับเบี้ยประกันสุขภาพลูกค้าแต่ละรายได้ แต่ขณะนี้จากคำสั่ง คปภ.เรื่องมาตรฐานประกันสุขภาพฉบับใหม่ ให้การันตีการต่ออายุและไม่อนุญาตให้ปรับเบี้ยประกันเป็นรายบุคคล ฉะนั้นมองว่าตรงนี้ควรทำได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ซึ่งในอนาคตพอร์ตประกันของทุกบริษัทจะมีกลุ่มผู้สูงอายุที่มากขึ้น จึงน่าจะบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี

       2.บริษัทประกันปรับเบี้ยประกันระหว่างน้อยสุดถึงมากสุด (Min-Max) สำหรับผู้สูงอายุให้มีความกว้างขึ้นเพื่อความเหมาะสม

       3.บริษัทประกันสามารถกำหนดใช้เงื่อนไขความรับผิดสูงสุดตลอดสัญญาประกันภัย (life time limit) เช่น กำหนดความคุ้มครอง 4-5 ล้านบาทต่อโรค เป็นต้น

       4.กำหนดเรื่องมีส่วนร่วมจ่าย (copayment) แบบเฉพาะโรค เพื่อทำให้เบี้ยประกันถูกลงได้ และที่สำคัญมากเพราะภาคเอกชนทำไม่ได้คือ

       5.ภาครัฐต้องกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งทำได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากปัจจุบัน 25,000 บาท เป็น 40,000 บาท เช่น เริ่มซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่อายุ 40-50 ปี เพื่อให้มีความคุ้มครองสุขภาพได้ต่อเนื่อง

       และ 6.ผลักดันให้สามารถใช้ประกันสุขภาพเอกชนร่วมกับสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลของภาครัฐ เช่น ศิริราช, รามาธิบดี เป็นต้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล hospital network ร่วมกัน และช่วยลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน

       และ 6.ผลักดันให้สามารถใช้ประกันสุขภาพเอกชนร่วมกับสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลของภาครัฐ เช่น ศิริราช, รามาธิบดี เป็นต้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล hospital network ร่วมกัน และช่วยลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน

       “คาดว่า คปภ.จะพิจารณาข้อเสนอและน่าจะมีการเรียกประชุมนัดต่อไป ช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ โดยตอนนี้ข้อเสนอยังเป็นคอนเซ็ปต์อยู่ ยังไม่ได้ออกมาเป็นแนวทางที่ชัดเจน แต่หาก คปภ.เห็นด้วยในหลักการก็น่าจะเดินไปได้เร็ว

       “นายปิยะพัฒน์กล่าวว่า ตอนนี้การรับประกันสุขภาพผู้สูงอายุจะมีอัตราเคลมสินไหม (loss ratio) เฉลี่ยเกิน 80% ขึ้นไป หรือแทบจะขาดทุน ทำให้ช่วงนี้ 8 บริษัท (ซิกน่าประกันภัย, ทิพยประกันภัย, แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ, วิริยะประกันภัย, เมืองไทยประกันภัย, แอกซ่าประกันภัย, เอ็ทน่า ประกันสุขภาพ, แอลเอ็มจีประกันภัย) “ที่ขายประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ปรับนโยบายการขายโดยรับประกันด้วยความระมัดระวังขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาที่เข้มงวดขึ้น ถ้ามีโรคมาก ก็รับประกันไม่ได้ หรือถ้ารับได้ เบี้ยประกันจะสูงขึ้นมาก

       “ตามสถิติปี 2562 จำนวนผู้สูงอายุ จำแนกตามสวัสดิการรักษาพยาบาล พบว่า สัดส่วน 81% ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีก 14% ใช้ประกันสังคม และอีก 4.53% ใช้สวัสดิการข้าราชการ รวมกันกว่า 99.53% ในขณะที่ทำประกันสุขภาพแค่ 0.47% เท่านั้น ฉะนั้น ผู้สูงอายุที่ทำประกันสุขภาพ น่าจะยังน้อยกว่า 5% จึงยังเป็นโอกาส แต่ก็ต้องรับประกันด้วยความระมัดระวัง”

       ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 ภาพรวมเบี้ยประกันสุขภาพของบริษัทประกันวินาศภัยอยู่ที่ 8,199 ล้านบาท ลดลง 24.8% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเบี้ยประกันโควิด-19 ที่หายไปจากตลาด 6,000 ล้านบาท โดยมี loss ratio สูงกว่า 918.8% เนื่องจากความเสียหายจากการรับประกันโควิดไตรมาส 1-2 ที่มีการชดใช้ค่าสินไหมสูงมาก