นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ อดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก(APFinSA) ได้โพสต์ข้อความลงเพจเฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า งานเข้า ป่วยเป็นโควิด ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จึงจะเบิกค่ารักษาได้ แหล่งข่าวจากวงการประกันชีวิตแจ้งว่า สมาคมประกันชีวิตไทย ได้ออกแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองการประกันภัยสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ของบริษัทประกันชีวิต โดยมีเนื้อหาโดยย่อว่า จากนี้ไป บริษัทประกันชีวิตจะให้การชดเชยค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้เอาประกันที่ป่วยเป็นโควิด ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

        วานนี้ เริ่มมีผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตบางแห่ง ได้ออกมาแจ้งให้ตัวแทนประกันชีวิตได้รับทราบว่า บริษัทกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลโรคโควิดในเร็วๆ นี้

       แหล่งข่าวยังแจ้งต่อว่า การที่บริษัทประกันชีวิต ได้เปลี่ยนแนวปฏิบัติ การให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโควิดครั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565

       ซึ่งประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ส่วนผู้ป่วยที่จะเข้ารักษาเป็น “ผู้ป่วยใน” ในโรงพยาบาลนั้น จะต้องมีความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข “ข้อใดข้อหนึ่ง” ดังต่อไปนี้
         1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
         2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาทีในผู้ใหญ่
         3. Oxygen Saturation น้อยกว่า 94%
         4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
         5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง

        โดยสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ยกเหตุผลว่า ในระยะเวลาอันใกล้ การติดเชื้อไวโควิด-19 จะกลายสภาพเป็นเหมือน “โรคประจำถิ่น” เช่นเดียวกับ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระบวนการดูแลรักษาจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในอีกต่อไป และผู้เข้ารับการรักษาใน Hospitel ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ดังนั้น การรักษาใน Hospitel เป็นเพียงการแยกกักตัว (isolation) ซึ่งไม่ควรถือว่าเป็นการเข้าพักรักษาตัวในรพ. (admit)ตามนิยามเดิม

       สมาคมจึงขอให้บริษัทประกันชีวิตที่เป็นสมาชิก ได้เตรียมความพร้อมในการสื่อสารภายในบริษัทและโรงพยาบาลคู่สัญญา เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการรักษาพยาบาลแบบ “ผู้ป่วยใน” และสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเซยรายได้จากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ถ้ามี) ให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว โดยจะเริ่มใช้แนวปฏิบัตินี้พร้อมกันทั้งธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

       สรุปคือ ผู้เอาประกันภัยที่ป่วยเป็นโรคโควิด จะเบิกค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยรายได้จากการนอนโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทลได้นั้น ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อ ข้างต้นเท่านั้น ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ต้องใช้วิธีกักตัวที่บ้านเอง (home isolation) ซึ่งจะเบิกค่ารักษาจากบริษัทไม่ได้ ตัวแทนประกันชีวิตจึงต้องเร่งทำความเข้าใจ และชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจในเงื่อนไขก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาในรพ.หรือฮอสพิเทลต่อไป
หมายเหตุ : ถ้ารพ.ยังรับเข้าแอดมิททั้งที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ผู้เอาประกันอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

       ต่อเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏว่า เป็นเรื่องจริง โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทยครั้งที่ 6/2564 -2565 เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2564 ที่ประชุมมีมติให้สมาคมประกันชีวิตไทยแจ้งให้บริษัทสมาชิกทราบถึงแนวปฎิบัติของภาคธุรกิจ ประกันชีวิตในการให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยตามสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัย ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด โดยให้อ้างถึงจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับบุคลากรแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการ ผู้ป่วยโควิด แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุงเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 นั้น

       แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า ทางคปภ.ได้คัดค้านประเด็นนี้กับภาคเอกชนไปแล้ว แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถคัดค้านได้ โดยต้องโทษกระทรวงสาธารณสุขที่ออกกฏกติกาใหม่นี้ออกมา ซึ่งเชื่อว่ คงจะมีลูกค้าที่ป่วยโควิดแล้วไม่สามารถเบิกค่ารักษากับรพ.หรือ Hospitel ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ รวมถึงค่าชดเชยรายได้ที่บริษัทประกันจะไม่จ่ายด้วย หากไม่เข้าข่ายที่กำหนด