ภายหลังจากก่อนหน้านี้มีปัญหาการเผยแพร่คลิปกลุ่มลูกค้าได้จับกลุ่มเข้าไปปิดล้อมและทวงถามค่าสินไหมบริษัทประกันฯ 4 แห่งที่มีการจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดเจอจ่ายจบจนล่าช้า กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ได้เรียกผู้บริหารของทาง 4 บริษัทเข้ามาหารือไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมได้กำหนดให้ 4 บริษัทจัดทำแผนบริหารจัดการด้านสินไหมเพื่อจ่ายให้กับลูกค้าไปแล้ว พร้อมกับคปภ.ได้กำหนดมาตรการให้บริษัทประกันที่ขายประกันโควิดได้ดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามหลักเกณฑ์ดังนี้ (1) ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐาน (2) กรณีผู้เอาประกันภัยยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนครบถ้วน ให้บริษัทดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ภายใน 15 วัน และ (3) กรณีผู้เอาประกันภัยยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไม่ครบถ้วน ให้แจ้งผู้เอาประกันภัยในวันเดียวกับที่ตรวจพบ และให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว

       มีรายงานข่าวล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย(คปภ.)เปิดเผยว่า ขณะนี้คปภ.ได้เริ่มทำการเฝ้าระวังและเกาะติดสถานการณ์การจ่ายสินไหมประกันโควิด-19 ประเภทเจอจ่ายจบของ 4 บริษัทประกันภัยที่มีการจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าล่าช้าว่า ได้ดำเนินการจ่ายให้กับลูกค้าเกิน 15 วันทำการหรือไม่ หากพบว่าในลูกค้าที่ยื่นเรื่องเบิกค่าสินไหมกับบริษัทประกันตั้งแต่วันที่ 1 ก .ย.เป็นต้นมา จากนั้น 15 วัน ลูกค้าได้รับค่าสินไหมครบถ้วนหรือไม่ หากพบว่า ยังมีการจ่ายล่าช้าเกิน 15 วัน คปภ.ก็จะนำเสนอเข้าคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับทันทีเช่นเดียวกับลูกค้าเดิมที่ยื่นเรื่องเบิกเคลมบริษัทประกันนั้นๆ ก่อนวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็ได้มีการพูดคุยกับฝ่ายคุ้มครองสิทธิของคปภ.ไปแล้วว่า จะให้จ่ายภายใน 15 วันเช่นกัน

       ทั้งนี้ทั้งนั้นหากบริษัทมีเหตุผลหรือข้อโต้แย้งว่าเคสไหนหรือรายใดที่ยังมีปัญหาเอกสารไม่ได้หรือมีปัญหาข้อโต้แย้ง ก็ให้ทำการบันทึกและชี้แจงคปภ.เข้ามา ถ้าคปภ.พิจารณาแล้วเห็นว่าสมเหตุสมผล ก็ไม่มีปัญหาแต่ประการใด แต่หากพิจารณาแล้วเห็นไม่สมควรหรือไม่สมเหตุสมผล ก็จะถูกดำเนินคดี โดยคปภ.จะนำเสนอให้คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับโทษฐานประวิงต่อไป ซึ่งโทษปรับสูงสุดต่อรายลูกค้าไม่เกิน 5 แสน ทั้งนี้ทั้งนั้นโทษปรับหนักสุดจนถึงเบาสุดก็มีตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป หรือ 2 แสนบาทขึ้นไป จนถึงปรับสูงสุด 5 แสนบาท ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับดูเป็นรายกรณีไป

       “คงต้องไล่ดูพฤติการณ์ว่า มีการเจตนาหรือไม่ หรือจงใจจะยื้อจ่ายมาตั้งแต่วันไหน อย่างไร บางครั้งคปภ.เข้าไปตรวจสอบ ก็มีลักษณะลูกค้าเป็นฝ่ายผิด ไม่เข้าข่ายเบิกค่าสินไหมได้ ทางเจ้าหน้าที่บริษัทก็ต้องบอกกล่าวกับลูกค้าไปว่า เขาเบิกค่าสินไหมไม่ได้นะ ไม่ใช่พอตรวจเอกสารหลักฐานแล้ว ก็ไม่บอกกล่าวอะไรกับลูกค้าไปตรงๆ กลับดองเรื่องเก็บเอาไว้ จนทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเบิกเคลมได้ก็มี อย่างนี้ก็เข้าข่ายผิดอีกแบบหนึ่ง เพราะเคสที่เอกสารมีปัญหา บริษัทไม่บอกให้ชัดเจน คุณจะไม่จ่ายหรือไม่คุ้มครองลูกค้าเขา ก็ต้องบอกเขา ไม่ใช่ปล่อยเงียบ อย่างงี้เป็นต้น”

       อนึ่ง สำหรับกรณี 4 บริษัทประกันภัยที่มีการจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 เป็นไปอย่างล่าช้านั้น ทางนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาฯคปภ.ค่อนข้างกังวลเป็นอย่างมาก และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากทีเดียว โดยได้วางมาตรการทางกฎหมายเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อผลักดันให้บริษัทประกันจ่ายสินไหมเป็นอย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในสถานการณ์ระบาดโควิดและกระทบกับการดำรงชีพของประชาชน ดังจะเห็นได้จากการออกคำสั่งสำนักงาน คปภ. เรื่องให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ซึ่งคำสั่งฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยที่มีปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ 100 เรื่องขึ้นไป ให้มีระบบงาน กระบวนการการดำเนินการพิจารณา และจ่ายค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19